วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

เอกสารประกอบการสอนรายวิชา โดย อ.ปรเมศร์ กลิ่นหอม



บทที่ 1
ความสำคัญของจิตวิทยากับครู
ภาระหน้าที่สำคัญของครู คือ การทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดั้งนั้นครูจึงเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งการที่ครูจะจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ในเบื้องต้นก็จะต้องมีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่จะต้องรับผิดชอบในการจัดการเรียนรู้ และจะต้องมีความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ด้วย เช่น หลักการจัดการเรียนรู้ หลักสูตร การวัดและประเมินผล เทคโนโลยีการศึกษา และจิตวิทยา โดยเฉพาะศาสตร์ทางจิตวิทยานั้นเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ เนื่องจากศาสตร์ทางจิตวิทยาจะมีทฤษฎีที่อธิบายเกี่ยวกับการเรียนรู้ การจูงใจ พัฒนาการของผู้เรียนและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเรียนรู้ ซึ่งความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้หากเข้าใจอย่างถ่องแท้จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ ดังนั้น วิชาจิตวิทยาจึงมีความจำเป็นสำหรับครูอย่างยิ่งต่อการจัดการเรียนรู้ เพราะความรู้ทางจิตวิทยาจะช่วยให้ครูได้พัฒนา หรือเลือกวิธีการจัดการเรียนรู้ได้เหมาะสมกับผู้เรียน ซึ่งเนื้อหาในบทนี้จะกล่าวถึงความรู้เบื้องต้นทางจิตวิทยาและกรอบของความรู้ทางจิตวิทยาที่เป็นประโยชน์กับการจัดการเรียนรู้
ทบทวน มโนทัศน์พื้นฐานทางจิตวิทยา
วิชาจิตวิทยานั้น มีต้นกำเนิดมาจากในสังคมตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ดังนั้นหากจะเข้าใจความหมายของจิตวิทยาก็ควรต้องวิเคราะห์ความหมายจากศัพท์ภาษาอังกฤษ ซึ่ง เติมศักดิ์ คทวณิช (2546, หน้า 11) กล่าวว่า คำว่า “จิตวิทยา” ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “psychology” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ “psyche” และ “logos” คำว่า “psyche” แปลเป็น ภาษาไทยว่า “วิญญาณ” (ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า soul) ส่วน “logos” แปลเป็นภาษาไทยว่า “วิชาการและการศึกษา” (ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า study) ดังนั้น ความหมายของ “จิตวิทยา” ตามรากศัพท์ภาษาอังกฤษจึงหมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ แต่จากการศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวิชาจิตวิทยาจะพบว่า ความหมายของวิชาจิตวิทยานั้นจะมีลักษณะไม่คงที่จะเปลี่ยนแปลงไป (dynamic) ตามประเด็นที่แต่ละยุคสมัยให้ความสำคัญศึกษา
จุดเริ่มต้นของการศึกษาวิชาจิตวิทยานั้น มีมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ แต่ในยุคนั้นยังเป็นการศึกษาเชิงปรัชญามากกว่าวิทยาศาสตร์ โดยมีแนวคิดของนักปรัชญาที่ได้กล่าวถึงการศึกษาทางจิตวิทยา คือ อริสโตเติล ซึ่งเป็นผู้ที่เขียนตำรา ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเป็นตำราจิตวิทยาเล่มแรกของโลกที่ชื่อว่า de anima ซึ่งแปลว่าเรื่องของชีวิต นอกจากนี้ยังมีตำราอีกหลายเล่ม เช่น เรื่องเกี่ยวกับวิญญาณ (concerning the soul) และเรื่องเกี่ยวกับความจำ (concerning the memory) ซึ่งเป็นตำราที่อธิบายเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องวิญญาณ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับสภาพสังคมในยุคนั้น กล่าวคือในยุคนี้เป็นยุคกรีกโบราณ สังคมมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งลึกลับ เช่น เชื่อว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว มีสิ่งลึกลับเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ก็มีอิทธิพลต่อการศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาด้วย โดยที่ กฤษณา ศักดิ์ศรี (2530, หน้า 10) ได้กล่าวเกี่ยวกับความเชื่อของสังคมยุคนี้ว่ามีผลต่อความเชื่อเกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์คือ มีความเชื่อว่าในตัวมนุษย์ก็ย่อมจะมีสิ่งลึกลับอยู่ในตัวที่จะทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม ซึ่งสิ่งลึกลับที่ควบคุมพฤติกรรมนี้ เรียกว่า “วิญญาณ” วิญญาณจะอยู่ในร่างกายมนุษย์เมื่อมีชีวิต เมื่อสิ้นชีวิตวิญญาณจะออกจากร่างกายจึงมีผลทำให้คนตายไม่สามารถแสดงพฤติกรรมได้ ดังนั้นในสมัยนี้การศึกษาทางจิตวิทยาจึงศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ
ต่อมาเมื่อสังคมโลกเข้าสู่ยุคของความเจริญทางวิทยาศาสตร์ เติมศักดิ์ คทวณิช (2546, หน้า 4) ได้กล่าวว่าความเจริญทางวิทยาศาสตร์ได้ทำให้มีการพยายามนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้อธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรม แต่ก็ยังไม่ได้รับความรู้เพิ่มเติมมากนัก จึงทำให้การศึกษาทางจิตวิทยามุ่งมาให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับจิต มีผลทำให้การศึกษาทางจิตวิทยาลดบทบาทความสำคัญของวิญญาณในการอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรม เนื่องจากวิญญาณเป็นนามธรรมเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการสัมผัส พิสูจน์ไม่ได้ และไม่สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ศึกษาวิญญาณได้ ดังนั้นการศึกษาทางจิตวิทยาในยุคนี้ จึงพยายามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับจิต โดยเน้นศึกษาที่จิตสำนึก (conscious) ซึ่งหมายถึงภาวะที่รู้สึกตัว ภาวะที่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไร คิดอะไร และการมีสติสัมปชัญญะ การศึกษาเกี่ยวกับจิตในยุคนี้เชื่อว่า จิตของมนุษย์แรกเกิดนั้นสะอาด บริสุทธิ์ว่างเปล่าเหมือนผ้าขาว แต่สิ่งแวดล้อมจะมีอิทธิพลกับจิต ทำให้จิตเกิดการสั่งสมประสบการณ์ และเชื่อว่าจิตมีอิทธิพลกับพฤติกรรมของมนุษย์
แม้ว่าความรู้ทางจิตวิทยาจะมุ่งมาศึกษาเกี่ยวกับจิต แต่ก็เกิดปัญหาเกี่ยวกับการศึกษา เกี่ยวกับจิต คือจิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจริงได้และจิตก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับวิญญาณ คือเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม นอกเหนือการสัมผัส ไม่สามารถใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับจิตได้ และยังมีการสับสนระหว่างคำว่าจิตและวิญญาณที่ยังแยกความแตกต่างได้ยาก บางทีก็มีการ ใช้คำ 2 คำนี้คู่กัน คือ จิตวิญญาณ ประกอบกับในยุคนี้เป็นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (renaissance) เป็นยุคที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เฟื่องฟู บุคคลสนใจศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าในยุคนี้มีนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาค้นพบทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มากมาย ทำให้เกิดการคัดค้านกับวิธีการแสวงหาความรู้ตามแบบของปรัชญาที่ใช้หลักตรรกศาสตร์ โดยเชื่อว่าการแสวงหาความรู้นั้นจะต้อง ใช้วิธีการ การทดลอง การสังเกต และจะต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์มาสนับสนุนความคิดและความเชื่อ ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ก็มีอิทธิพลกับการศึกษาทางจิตวิทยาด้วย กล่าวคือ มีผลทำให้การศึกษาทางจิตวิทยาปฏิเสธสิ่งที่ลึกลับซึ่งไม่สามารถใช้วิธีการเชิงประจักษ์มาศึกษาได้ จึงมีผล ทำให้ความเชื่อเกี่ยวกับจิตลดบทบาทความสำคัญลงไป ทำให้การศึกษาทางจิตวิทยามุ่งมาศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม กันยา สุวรรณแสง (2535, หน้า 17-18) เพราะพฤติกรรมเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมสามารถใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมได้ สังเกตพฤติกรรมได้ ทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมได้
จากความเป็นมาของการศึกษาทางจิตวิทยา ดังที่ได้กล่าวมานี้ สรุปได้ว่า ความหมายของวิชาจิตวิทยานั้นจะมีลักษณะไม่คงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามประเด็นสำคัญที่แต่ละยุคสมัยศึกษาเพื่ออธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ยุค ดังนี้
1. ยุคที่ 1 ยุคที่จิตวิทยาศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ ดังนั้นความหมายของจิตวิทยาในยุคนี้คือการศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ
2. ยุคที่ 2 ยุคที่จิตวิทยาศึกษาเกี่ยวกับจิต ดังนั้นความหมายของจิตวิทยาในยุคนี้คือการศึกษาเกี่ยวกับจิต
3. ยุคที่ 3 ยุคที่จิตวิทยาศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม ดังนั้นความหมายของจิตวิทยาในยุคนี้คือการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม
แม้ว่าในยุคที่ 3 นี้จะให้คำนิยามของความหมายของจิตวิทยาว่า คือการศึกษาเกี่ยวกับ พฤติกรรม แต่จากศึกษาตำราทางจิตวิทยาในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมานั้นพบว่าความหมายของจิตวิทยาเริ่มมีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่ง เดนนิส (Dannis, 2006, p. 14) ได้ให้คำนิยามของจิตวิทยาว่าหมายถึงการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (science) เกี่ยวกับพฤติกรรม (behavior) และกระบวนการทางปัญญา (mental process)
จากคำนิยามดังกล่าวนั้นจะมีคำสำคัญอยู่ 3 คำ คือ วิทยาศาสตร์ พฤติกรรม และกระบวนการปัญญา คำว่าวิทยาศาสตร์ในคำนิยามนั้นสื่อความหมายว่าวิชาจิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง เนื่องจากการศึกษาในวิชาจิตวิทยานั้นเป็นการศึกษาเพื่อการเข้าใจมนุษย์โดยใช้ระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความรู้ เช่น การสังเกต และการทดลอง ส่วนคำว่า พฤติกรรม หมายถึง การกระทำของบุคคล ซึ่งบุคคลอื่นสามารถสังเกตได้และวัดได้ และคำว่ากระบวนการทางปัญญา หมายถึง กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคลก่อนที่จะมีการตอบสนอง ได้แก่ ความคิด อารมณ์ ความรู้ และแรงจูงใจ ฯลฯ
ความหมายของพฤติกรรม
สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต (2526, หน้า 2) ได้ให้ความหมายของพฤติกรรมว่า หมายถึงสิ่งที่บุคคลกระทำแสดงออก ตอบสนอง หรือโต้ตอบสนองต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสภาพการณ์ใดสภาพการณ์หนึ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ ได้ยินได้ อีกทั้งวัดได้ตรงกันด้วยเครื่องมือที่เป็นวัตถุวิสัย ไม่ว่าการแสดงออก หรือการตอบสนองนั้น จะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกร่างกาย
จากคำนิยามดังกล่าวนี้มีคำสำคัญ 3 คำ ที่อธิบายความหมายของพฤติกรรม คือ การแสดงออก สังเกตได้ และวัดได้ ซึ่งคำสำคัญ 3 คำนี้ อาจใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจว่าสิ่งใดเป็นหรือไม่เป็นพฤติกรรม และคำสำคัญทั้ง 3 คำที่จะมีความสอดคล้องกันด้วย กล่าวคือ หากสิ่งใดเป็นพฤติกรรมแล้วสิ่งนั้นจะต้องมีการแสดงออก แสดงให้ดูได้ เมื่อมีการแสดงออกก็จะต้องสังเกตได้ และวัดได้ รายละเอียดเกี่ยวกับคำสำคัญของความหมายพฤติกรรมทั้ง 3 คำนั้นมีดังนี้
1. การแสดงออก หมายถึง มีการกระทำที่แสดงออกมาในลักษณะของอาการกิริยา ท่าทาง การเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ ที่บุคคลภายนอกสังเกตได้ เช่น ยืน เดิน ยกมือ ฯลฯ หรืออาจเป็นสิ่งที่บุคคลแสดงออกมาที่เป็นการเปลี่ยนแปลงภายใน เช่น ความคิด ความจำ ความเชื่อ ฯลฯ
2. สังเกตได้ หมายถึง การที่บุคคลใช้ประสาทสัมผัส(ทั้งหมดได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย) สัมผัสพฤติกรรม ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 วิธี
2.1 การสังเกตโดยตรง (direct observation) คือการใช้ประสาทสัมผัสสัมผัสพฤติกรรมโดยตรงหรือการใช้ประสาทสัมผัสสัมผัสพฤติกรรมโดยตรงผ่านเครื่องมือ ตัวอย่างเช่น หากใช้มือจับชีพจรแล้วรู้ว่าชีพจรเต้น กรณีนี้เป็นการใช้ประสาทสัมผัส สัมผัสการเต้นชีพจรโดยตรง กรณีนี้เป็นการสังเกตโดยตรงผ่านประสาทสัมผัส แต่ถ้าใช้สเต็ตโทรสโครปฟังการเต้นของหัวใจ ซึ่งเป็นการสัมผัสการเต้นหัวใจผ่านเครื่องมือ ในกรณีนี้เป็นการสังเกตโดยตรงผ่านเครื่องมือ
2.2 การสังเกตโดยอ้อม (indirect observation) คือการใช้ประสาทสัมผัสสัมผัสร่องรอยของการเกิดพฤติกรรม หรือพฤติกรรมที่เป็นผลกระทบจากพฤติกรรมภายในที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมภายนอก ซึ่งไม่ใช่เป็นการแสดงของพฤติกรรมนั้น ๆ โดยตรง เช่น การสังเกตว่าได้ เกิดการคิดเลขในใจหรือไม่ จากการสังเกตใบหน้ามีอาการขมวดคิ้ว มีการนับนิ้วมือ มีการทดเลข ฯลฯ
3. การวัดได้ คำว่าการวัดนั้น สุรางค์ โคว้ตระกูล (2544, หน้า 408) ได้ให้ความหมายว่าหมายถึงกระบวนการหาปริมาณของสิ่งของ ดังนั้นการวัดได้ก็คือสามารถที่จะตีค่าหรือหาปริมาณได้ สิ่งที่บ่งบอกปริมาณของพฤติกรรมนั้น ได้แก่ ความถี่ ระยะเวลายาวนานของการเกิดพฤติกรรม คะแนน ฯลฯ ซึ่งการที่จะวัดพฤติกรรมโดยวิธีใดนั้น จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะของพฤติกรรมนั้น ๆ
ประเภทของพฤติกรรม
ประสิทธิ์ ทองอุ่น (2542, หน้า 4-6) ได้เสนอแนวคิดการแบ่งประเภทของพฤติกรรม โดย ใช้เกณฑ์ “ผู้ที่รู้พฤติกรรม” เป็นเกณฑ์ในการแบ่งประเภทของพฤติกรรม จึงแบ่งประเภทของ พฤติกรรมออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. พฤติกรรมภายใน (covert behavior) หมายถึงการกระทำที่มีการแสดงออกภายในตนเอง จึงทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้โดยตรง แต่บุคคลที่แสดงพฤติกรรม เท่านั้นที่จะรู้พฤติกรรมของตนเองได้ แต่บุคคลจะรู้พฤติกรรมภายในของบุคคลอื่นได้ โดยการให้บุคคลที่แสดงพฤติกรรมรายงานตนเองออกมา หรือ โดยการใช้การสันนิษฐาน ซึ่งการใช้การสันนิษฐานนี้ บุคคลจะต้องใช้วิธีการสังเกตทางอ้อม เพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการสันนิษฐาน จึงจะทำให้การสันนิษฐานพฤติกรรมภายในทำได้ดียิ่งขึ้น ตัวอย่างของพฤติกรรมภายใน ได้แก่ การคิด การตัดสินใจ ความจำ ฯลฯ
2. พฤติกรรมภายนอก (overt behavior) หมายถึงพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกมาภายนอก จึงทำให้บุคคลอื่นสามารถรู้พฤติกรรมของบุคคลอื่นได้ โดยการสังเกตโดยตรงทั้งการใช้ประสาทสัมผัสสัมผัสพฤติกรรมนั้นโดยตรง หรือใช้ประสาทสัมผัสสัมผัสพฤติกรรมโดยตรงผ่านเครื่องมือ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 พฤติกรรมโมล่าร์ (molar behavior) คือพฤติกรรมที่มีการแสดงออกมาภายนอกแล้วบุคคลอื่นสามารถสังเกตได้โดยใช้ประสาทสัมผัส สัมผัสพฤติกรรมนั้นได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ เช่น ยืน เดิน วิ่ง ฯลฯ
2.2 พฤติกรรมโมเลกูล่าร์ (molecular behavior) คือพฤติกรรมที่มีการแสดงออกมา
ภายนอกแล้วบุคคลอื่นจะต้องสังเกตโดยตรงผ่านเครื่องมือหรืออุปกรณ์จึงจะสามารถสังเกตได้ เช่น ความดันโลหิต การทำงานของคลื่นสมอง ฯลฯ
รูปแบบการศึกษาพฤติกรรม
ประทีป จินงี่ (2540, หน้า 6–7) ได้เสนอรูปแบบ (paradign) ในการอธิบายพฤติกรรม โดยอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้า (stimulus) อินทรีย์ (organism) และการตอบสนอง (response)
สิ่งเร้า หมายถึง วัตถุ สิ่งของหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อม ซึ่งสิ่งเร้าจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้บุคคลตอบสนองออกมา หรือทำหน้าที่เป็นตัวสัญญาณให้บุคคลสามารถแยกแยะได้ว่าควรตอบสนองแบบใดในสถานการณ์ใด และไม่ควรตอบสนองแบบใดในสภาพการณ์ใด นอกจากนี้ สิ่งเร้ายังอาจทำหน้าที่ในการกระตุ้นให้บุคคลแสดงการตอบสนองซ้ำ ๆ ถ้าหากสิ่งเร้านั้นทำให้บุคคลพอใจ และสิ่งเร้าบางอย่างก็อาจจะไม่มีผลต่อการตอบสนองของบุคคล ถ้าสิ่งเร้านั้นทำให้บุคคลไม่พอใจ
อินทรีย์ หมายถึง สิ่งมีชีวิต ซึ่งอาจหมายถึงมนุษย์หรือสัตว์ เมื่ออินทรีย์ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า ก็จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวอินทรีย์ เช่น เกิดการรับรู้ การตีความ และสั่งให้เกิดการตอบสนอง แต่แนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยมจะไม่สนใจกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวอินทรีย์
การตอบสนอง หมายถึง การกระทำที่ถูกกระตุ้นให้แสดงออกโดยสิ่งเร้า ซึ่งอาจเป็น พฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยาสะท้อน เช่น การรีบยกเท้าขึ้นเมื่อเหยียบตะปู หรือเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจาก การเรียนรู้ เช่น การเดิน การวิ่ง นอกจากนี้การตอบสนองก็อาจจะเป็นการตอบสนองภายนอกให้บุคคลอื่นสังเกตได้โดยตรง ซึ่งก็คือพฤติกรรมภายนอก หรือเป็นการตอบสนองที่มีการแสดงออกภายในตัวที่บุคคล ซึ่งบุคคลอื่นต้องใช้การสังเกตทางอ้อมจึงจะสังเกตพฤติกรรมได้ซึ่งก็คือพฤติกรรมภายใน
แนวความคิดทางจิตวิทยา
การจัดกลุ่มแนวความคิดทางจิตวิทยาเกิดขึ้นมาจากการที่มีนักจิตวิทยาหลาย ๆ ท่านที่ได้ค้นคว้าและนำเสนอทฤษฎีทางจิตวิทยาของตนเองออกมา ซึ่งทฤษฎีต่าง ๆ เหล่านั้นเมื่อพิจารณาแล้วก็อาจมีความคล้ายคลึงกันบ้าง จึงเกิดการจัดกลุ่มแนวความคิดทางจิตวิทยา กล่าวคือ ทฤษฎีทางจิตวิทยาทฤษฎีใดที่มีรากฐานแนวความคิด สาระเนื้อหาที่มุ่งเน้นศึกษา และระเบียบวิธีที่ใช้ ในการศึกษามีความคล้ายคลึงกันก็จัดไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน รายละเอียดของแนวความคิดทางจิตวิทยา แต่ละกลุ่มมีดังนี้
1. แนวความคิดโครงสร้างนิยม (structuralism) หรือแนวความคิดโครงสร้างของจิต เป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน เมื่อ ค.ศ.1879 โดยวิลเฮล์ม แม็ก วุนด์ (Wihelm Max Wundt) เป็น ผู้นำกลุ่มแนวความคิด ซึ่ง กันยา สุวรรณแสง, (2532, หน้า 27-28) กล่าวว่าแนวความคิดโครงสร้างนิยมมีรากฐานแนวคิดเบื้องต้นมาจากศาสตร์ 2 สาขา คือ ศาสตร์ด้านปรัชญา โดยเฉพาะแนวคิดของ พลาโต (Plato) อริสโตเติล (Aristotle) และเดคาสท์ (Descartes) ซึ่งสาระสำคัญของแนวคิดทางปรัชญาของทั้ง 3 คนนี้ จะกล่าวถึงองค์ประกอบของมนุษย์ที่ประกอบด้วยกายและจิต ความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต และศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในวิชาเคมีที่มุ่งเน้นศึกษาองค์ประกอบของสสาร ในวิชาเคมีจะมีการวิเคราะห์สสารเพื่อให้ได้ องค์ประกอบที่เล็กที่สุด คือ ธาตุ และพบว่าสารประกอบต่าง ๆ มีส่วนประกอบของธาตุต่าง ๆ โดยมีสัดส่วนที่แน่นอน เช่น น้ำ ประกอบด้วย ธาตุไฮโดรเจน (hydrogen) และออกซิเจน (oxygene) จากแนวคิดศาสตร์ด้านปรัชญาและศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวจึงมีผลทำให้เกิดแนวความคิดโครงสร้างนิยม ที่เป็นแนวความคิดที่มุ่งเน้นศึกษาแยกจิตออกเป็นส่วน ๆ เพื่อวิเคราะห์หาองค์ประกอบของจิต
การศึกษาเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของจิตนั้น ทำให้วิลเฮล์ม แม็ก วุนด์ ได้สร้างห้องทดลองทางจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยไลฟ์ซิก (Liepzig University) ประเทศเยอรมันนี และได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการรับสัมผัส (sensation) การมองเห็น (vision) ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้า (reaction time) ความสนใจและความจำ จากผลการศึกษาทำให้เกิดความเชื่อว่าจิตของคนเรานั้นน่าจะมีลักษณะเป็นโครงสร้างจากองค์ประกอบต่าง ๆ คล้ายกับสารประกอบทางเคมี ดังนั้นแนวความคิดโครงสร้างนิยมจึงพยายามศึกษาเพื่อค้นหาองค์ประกอบของจิต และ ลิขิต กาญจนาภรณ์ (2547, หน้า 13-14) ได้สรุปว่าจิตของคนเราประกอบด้วยจิตธาตุ (mental element) (คำว่าจิตธาตุคือองค์ประกอบย่อย ๆ ของจิต เหมือนกับสารประกอบที่ประกอบด้วยอนุภาคเล็ก ๆ ที่เรียกว่าธาตุ) 3 ชนิด คือ การรับสัมผัส (sensation) จากสัมผัสทั้ง 5 ความรู้สึก (feeling) ที่แสดงออกถึงการชอบไม่ชอบ พอใจไม่พอใจ และภาพลักษณ์ (image) ที่เกิดขึ้นในจิต ซึ่ง ระพินทร์ ฉายวิมล (ม.ป.ป., หน้า 19) ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของจิตธาตุทั้ง 3 ชนิดว่า เมื่อใดก็ตามที่จิตธาตุทั้ง 3 มาสัมพันธ์กันภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมจะก่อให้เกิดจิตรูปผสมขึ้น เช่น ความคิด (thinking) อารมณ์ (emotion) ความจำ (memory) การหาเหตุผล (reasoning) ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้คือจิตหรือพฤติกรรมภายในนั่นเอง
แนวความคิดโครงสร้างนิยมนั้นมุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับจิต จึงทำให้ต้องใช้วิธีการศึกษา โดยวิธีการตรวจสอบตนเอง (introspections) ซึ่งเป็นวิธีการที่ต้องให้ผู้รับการทดลองได้รายงานความคิด อารมณ์ และความรู้สึกภายในให้ผู้ศึกษาได้ทราบ เพื่อนำผลไปศึกษาวิเคราะห์ต่อไป ดังนั้นแม้ว่าแนวความคิดโครงสร้างนิยมจะใช้กระบวนการทดลองเพื่อศึกษาหาความรู้ แต่ยังใช้เครื่องมือรวบรวมข้อมูลที่เป็นวิธีการให้รายงานตนเอง ซึ่งเป็นวิธีการที่มีข้อบกพร่อง เนื่องจากผู้รับการทดลองอาจ บิดเบือน รายงานข้อมูลที่ไม่จริง จึงทำให้แนวความคิดโครงสร้างนิยมยังไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิทยาศาสตร์โดยสมบูรณ์
2. แนวความคิดหน้าที่นิยม (functionalism) แนวความคิดหน้าที่นิยม เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1900 ผู้นำกลุ่มแนวความคิดคือ วิลเลี่ยม เจมส์ (William James) และ จอนห์ ดิวอี้ (John Dewey) ซึ่ง พนมไพร ไชยยงค์ (2542, หน้า 39) กล่าวว่าจิตวิทยากลุ่มนี้มีแนวความคิดมาจากลัทธิปรัชญากลุ่มปฏิบัตินิยม (pragmatism) ทฤษฎีที่สำคัญทางชีววิทยา อันได้แก่ ทฤษฎีที่ ว่าด้วยวิวัฒนาการ (theory of evolution) ของ ชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin) ทฤษฎีวิวัฒนาการกล่าวว่าสัตว์ที่ดำรงพันธุ์อยู่ได้ จะต้องต่อสู้และปรับตัวเองให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเห็นว่าในการที่จะให้เข้าใจถึงการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตนั้น ควรต้องศึกษาถึงหน้าที่ของจิตต่อการปรับตัวภายใต้จิตสำนึกมากกว่า แนวความคิดหน้าที่นิยมจึงสนใจศึกษาหน้าที่ (the functions) ของจิตมากกว่าจะศึกษาองค์ประกอบโครงสร้างของจิต โดยสนใจว่าจิตทำหน้าที่อะไร ทำอย่างไร แนวความคิดหน้าที่นิยมเชื่อว่าจิตมีหน้าที่ควบคุมการกระทำกิจกรรมของร่างกาย และคำว่าจิต ตามแนวความคิดหน้าที่นิยมนั้น คือกระบวนการกระทำกิจกรรมของร่างกายในการปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม
แนวความคิดหน้าที่นิยมมีลักษณะคล้าย ๆ กับแนวความคิดโครงสร้างนิยม กล่าวคือ เป็นแนวความคิดที่มุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับจิต ดังนั้นแนวความคิดหน้าที่นิยมจึงใช้ระเบียบวิธีการศึกษา โดยวิธีการตรวจสอบตนเอง ดังนั้นผลการศึกษาจึงยังไม่เป็นที่ยอมรับได้อย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังช่วยพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มเติมจากแนวความคิดโครงสร้างนิยม กล่าวคือแนวความคิดโครงสร้างอธิบายเพียงแต่โครงสร้างของจิต แต่แนวความคิดหน้าที่นิยมมาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้าที่ของจิต
3. แนวความคิดพฤติกรรมนิยม (behaviorism) เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1912 จอห์น บี วัตสัน (John B. Watson) เป็นผู้นำแนวความคิดโดยมีรากฐานแนวความคิดมาจากนักจิตวิทยารัสเซียชื่อ พาฟลอฟ (Pavlov) ผู้ค้นพบคำอธิบายเรื่องการเกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่ต้องวางเงื่อนไข (conditioned response) แนวความคิดพฤติกรรมนิยมไม่เห็นด้วยกับ วิธีการตรวจสอบตนเอง โดยเห็นว่าเป็นวิธีที่ไม่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ เชื่อถือได้ยาก ผลการศึกษาจะขึ้นอยู่กับความจำหรือความลำเอียงเข้าข้างตนเอง (subjective) ของผู้ให้ข้อมูล ไม่เห็นด้วยกับการศึกษาโครงสร้างของจิตหรือการศึกษาจิตสำนึก (consciousness) และไม่เชื่อว่าจะสามารถศึกษาจิตได้ เพราะจิต ไม่มีตัวตน ไม่ทราบว่าตั้งอยู่ส่วนไหนของร่างกาย ดังนั้นการศึกษาทางจิตวิทยาจึงควรมุ่งมาศึกษาแต่พฤติกรรมที่สังเกตได้เท่านั้น มุ่งเน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง ซึ่ง พนมไพร ไชยยงค์ (2542, หน้า 45) ได้กล่าวถึงลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับ การตอบสนองว่าพฤติกรรมเกิดขึ้นจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า และการตอบสนองต่อสิ่งเร้าติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ฉะนั้นพฤติกรรมทุกอย่างย่อมมีสาเหตุมาจากสิ่งเร้า และเชื่อว่าการศึกษาพฤติกรรมจะทำให้ทราบถึงเรื่องราวของจิตได้ ตัวอย่างเช่น ใช้การสังเกตพฤติกรรม ร้องไห้ ก็สามารถรู้จิตว่ามีอารมณ์เศร้า แต่การศึกษาเกี่ยวกับจิตนั้นยากที่จะศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เนื่องจากจิตไม่มีตัวตน และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง แต่สิ่งที่สังเกตได้ก็คือ การแสดงออกในรูปของการกระทำหรือพฤติกรรม ซึ่งสังเกตได้โดยตรงด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 หรือใช้เครื่องมือช่วยในการสังเกต นอกจากนี้วิธีการศึกษาของกลุ่มพฤติกรรมนิยมส่วนมากใช้วิธีการทดลอง (experimentation)ประกอบกับการสังเกตอย่างมีแบบแผน (formal observation) แล้วบันทึกข้อมูลเป็นหลักฐาน จึงเป็นเหตุให้เลิกสนใจเรื่องจิต และมุ่งมาให้ความสนใจศึกษาเรื่องพฤติกรรม มีผลให้วิชาจิตวิทยาเป็นวิทยาศาสตร์แห่งพฤติกรรม (the science of behavior) และสาระที่แนวความคิดพฤติกรรมนิยมมุ่งเน้นศึกษา คือเรื่องของการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้ และการปรับพฤติกรรม ซึ่งเป็นความรู้ที่มีประโยชน์ต่อวงการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
4. แนวความคิดปัญญานิยม (cognitive approach) คำว่า ปัญญา (cognition) จิราภา เต็งไตรรัตน์และคนอื่น ๆ (2542, หน้า 9) ให้ความหมายว่าหมายถึง กระบวนการทางจิตด้านความรู้ ความจำ การประมวลสารสนเทศ การศึกษาหาความรู้ การแก้ปัญหา และการวางแผนในอนาคต จากคำนิยามดังกล่าว สรุปได้ว่า ปัญญา หมายถึงกระบวนการทางจิต ซึ่งคำว่ากระบวนการทางจิต หมายถึง กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคลก่อนที่จะมีการตอบสนอง ตัวอย่างเช่น เมื่อได้ยินสิ่งเร้าว่า “สี่บวกแปดได้เท่าไร” เมื่อบุคคลได้ยินสิ่งเร้าแล้ว ภายในตัวบุคคลเกิดการรับรู้ ตีความ และ คิดหาคำตอบ เพื่อหาทางแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ กระบวนการในขั้นตอนนี้คือ “ปัญญา” และเมื่อตอบว่า “สิบสอง” ในขั้นตอนนี้เป็นการตอบสนอง
แนวความคิดปัญญานิยม เป็นแนวความคิดที่ให้ความสำคัญกับการศึกษากระบวนการทำงานของปัญญา เพื่อนำไปอธิบายพฤติกรรม ซึ่งแนวความคิดนี้จะขัดแย้งกับแนวความคิดพฤติกรรมนิยม ซึ่งแนวความคิดพฤติกรรมนิยมมักจะมุ่งเน้นศึกษาพฤติกรรมภายนอก ที่มีการแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนสามารถสังเกตได้ วัดได้ โดยไม่สนใจกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล และอธิบายการเกิดพฤติกรรมจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง แต่แนวความคิดปัญญานิยม เชื่อว่าการอธิบายพฤติกรรมจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองนั้นไม่เพียงพอ มนุษย์มีกระบวนการทางปัญญา ซึ่งมีความซับซ้อนและมีอิทธิพลสำคัญต่อพฤติกรรมการ ตอบสนอง จึงอาจกล่าวได้ว่า แนวความคิดปัญญานิยมเชื่อว่า ปัญญาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการตอบสนองของบุคคล เช่น จากตัวอย่าง การแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์ว่า “สี่บวกแปดได้เท่าไร” พฤติกรรมการตอบสนองที่เป็นคำตอบจะตอบสนองออกมาจะถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับกระบวนการคิด หากมีการคิดที่ถูกต้องก็จะได้คำตอบว่า “สิบสอง” ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่ถ้าผ่านกระบวนการคิดและได้คำตอบว่า “สิบ” แสดงว่ามีขั้นตอนในการคิดไม่ถูกต้อง จากตัวอย่างดังกล่าวนี้สรุปได้ว่าพฤติกรรมการตอบสนองจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับกระบวนการทำงานของปัญญาที่อยู่ภายใน ดังนั้น แนวความคิดปัญญานิยมจึงพยายามศึกษาเกี่ยวกับ ปัญญา และกระบวนการทำงานของปัญญา ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และได้ผสมผสานความรู้จากศาสตร์หลาย ๆ สาขา เช่น วิทยาการคอมพิวเตอร์ (computer science) นิเทศศาสตร์ (comunication science) ประสาทจิตวิทยา (neuro psychology) และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) โดยเฉพาะความรู้ทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่อธิบายขั้นตอนหลักของการทำงานของคอมพิวเตอร์ จะเป็นแนวความคิดสำคัญที่นำมาเป็นแบบจำลองในการอธิบายขั้นตอนการทำงานของปัญญาได้อย่างเหมาะสม กล่าวคือ ขั้นตอนหลักของการทำงานของคอมพิวเตอร์จะประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ สิ่งนำเข้า (input) การประมวลผล (process) และการแสดงผล (output) จากขั้นตอน 3 ขั้นตอนนี้ แนวความคิดปัญญานิยมได้นำมาอธิบายการทำงานของปัญญา คือ ในขั้นเริ่มต้นของการทำงานของปัญญานี้ จะเริ่มการที่สิ่งเร้าเข้ามากระทบประสาทรับสัมผัส จึงเปรียบเสมือนกับขั้นของสิ่งนำเข้า (input) เมื่อบุคคลรับสิ่งเร้ามาแล้วก็จะมีการจัดกระทำกับสิ่งเร้า เช่น รับรู้ แปลความ ทำความเข้าใจ จดจำ คิดคำนวณ ฯลฯ ในขั้นนี้ที่เปรียบเสมือนการประมวลผลเมื่อได้จัดกระทำกับสิ่งเร้าและได้ผลแล้ว ก็จะแสดงพฤติกรรมตอบสนองออกมา ในขั้นนี้เปรียบเสมือนการแสดงผล
แนวความคิดปัญญานิยมเป็นแนวความคิดที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการเพื่อศึกษาปัญญาและกระบวนการทำงานของปัญญาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งการเข้าใจบทบาทของปัญญานั้นมีความสำคัญมากกับการจัดการเรียนรู้ เนื่องจากหากเข้าใจปัญญา และวิธีการพัฒนาปัญญาก็จะทำให้ ผู้เรียนการเกิดความรู้ ความเข้าใจ และจดจำข้อมูลความรู้ที่ติดตัวอยู่ภายในตัวของนักเรียน ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงไม่ใช่เป็นเพียงแต่เปลี่ยนพฤติกรรม แต่ไม่เกิดความรู้ความเข้าใจจากภายใน
5. แนวความคิดจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออสเตรีย เป็นผู้พัฒนาแนวความคิด โดยเริ่มเมื่อ ค.ศ.1900 : ซึ่ง กฤษณา ศักดิ์ศรี(2530, หน้า 37-38) กล่าวว่าแนวความคิดจิตวิเคราะห์มีพื้นฐานแนวความคิดมาจาก การสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยคลินิกสุขภาพจิต และทฤษฎีการคงรูปของพลังงาน ที่ว่าพลังงานย่อมไม่สูญหาย แต่จะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะอื่นได้ ทำให้ฟรอยด์เชื่อว่าจิตก็มีสภาวะเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง และจิตถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ จิตสำนึก (conscious mind) จิตกึ่งสำนึก (subconscious mind) และจิตไร้สำนึก (unconscious mind) ดังนี้
5.1 จิตสำนึก (conscious mind) คือสภาพที่มีสติ รู้ตัว รู้ว่าตัวกำลังทำอะไรอยู่ หรือกำลังจะทำอะไร รู้จักตัวเองว่าเป็นใคร ต้องการอะไร ทำอะไร อยู่ที่ไหน กำลังรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งใด
5.2 จิตกึ่งสำนึก (subconscious mind) หรือจิตกึ่งรู้สำนึก (preconscious mind) คือ
สภาพที่ไม่รู้ตัวในบางขณะ แต่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะที่รู้สึกตัวได้ เช่น ขณะนั่งใจลอย อาจจะยิ้มคนเดียวโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อมีคนมาเรียกเสียงดังก็จะรู้ตัว
5.3 จิตไร้สำนึก (unconscious mind) คือ ส่วนของอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมที่ถูกเก็บกดเอาไว้จนกระทั่งไม่สามารถรู้ตัว แต่อารมณ์ ความรู้ และพฤติกรรมเหล่านั้นยังมีผลต่อพฤติกรรมของบุคคล ตัวอย่างเช่น เด็กที่อิจฉาน้อง อาจจะเก็บกดความรู้สึกอิจฉาน้อง และเมื่อโตขึ้นความรู้สึกอิจฉาก็จะเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก ซึ่งตนเองก็จะไม่มีความรู้สึกเกลียดน้อง แต่อาจมีผลต่อพฤติกรรม คือเป็นพี่น้องที่ไม่มีความสนิทสนมกัน ต่างคนต่างอยู่ไม่เหมือนพี่น้องอื่น ๆ
สภาวะจิตทั้ง 3 ระดับ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปมาได้ตลอดเวลาระหว่างจิตสำนึก จิตกึ่งสำนึก และจิตไร้สำนึก เช่น ขณะที่มีสมาธินั่งอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นภาวะของจิตสำนึก แต่เมื่อได้อ่านหนังสือไประยะเวลาหนึ่ง ก็อาจจะเผลอตัวใจลอยไปชั่วครู่ ซึ่งเป็นภาวะของจิตกึ่งสำนึก แต่เมื่อรู้ตัว ก็สามารถกลับมามีสมาธิอ่านหนังสือได้อีก ฉะนั้นตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าจิตของ คนเราเปลี่ยนแปลงไปมาได้ เช่นเดียวกับพลังงานซึ่งไม่มีสูญสลาย แต่มีการแปรรูปของพลังงานไปเป็นพลังงานรูปแบบต่าง ๆ ได้
นอกจากนี้ ฟรอยด์ ยังได้ กำหนดองค์ประกอบที่สำคัญของจิต (the components of mind) ไว้ 3 ส่วน คือ อิด (id) , อีโก้ (ego) และ ซุปเปอร์อีโก้ (super –ego) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
อิด คือ สัญชาตญาณ (instrinct) ซึ่งหมายถึง ความอยากหรือความต้องการที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เช่น ความหิว ความก้าวร้าว ความต้องการทางเพศ ฯลฯ การทำงานของอิดจะทำงานตามหลักแห่งความพอใจ (pleasure principle) กล่าวคือ การทำงานจะมุ่งตอบสนองความพึงพอใจของตนเองเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องทางสังคม ตัวอย่างเช่น เมื่อมีความต้องการก้าวร้าวก็จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวที่รุนแรง โดยการทำร้ายร่างกาย โดยไม่คำนึงว่าการทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
อีโก้ คือส่วนของจิตที่ควบคุมการแสดงพฤติกรรมให้เหมาะสม โดยจะต้องตอบสนองความต้องการของอิด ด้วยพฤติกรรมการแสดงออกที่เหมาะสมตามกฎเกณฑ์ของสังคม เพราะฉะนั้นพฤติกรรมที่แสดงออกตามพลังของอีโก้ จึงมีลักษณะเป็นพฤติกรรมที่ผ่านการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักที่ถูกต้องกับกฎเกณฑ์ของสังคม ดังนั้นการทำงานของอีโก้จะทำงานตามหลักแห่งความเป็นจริง (reality principle) กล่าวคือ การตอบสนองต่อความต้องการของตน (คืออิด) โดยนึกถึงหลักของความจริงในสังคม คือจะต้องเป็นการกระทำที่ไม่ขัดแย้งกับกฎเกณฑ์ของสังคม ตัวอย่างเช่น เมื่อมีความต้องการก้าวร้าว ก็จะพิจารณาว่าจะตอบสนองต่อความก้าวร้าวโดยไม่ละเมิดต่อกฎเกณฑ์ของสังคม เช่น อาจจะตอบสนองความก้าวร้าวโดยการระงับความโกรธ แล้วพูดคุยกับบุคคลที่ทำให้โกรธด้วยเหตุผล
ซุปเปอร์อีโก้ คือ ส่วนของคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม และหลักของศีลธรรม ซึ่งการพัฒนาซุปเปอร์อีโก้จะเกิดจากการเรียนรู้และสะสมเป็นอุดมคติ (ideal) ในการดำเนินชีวิต
6. แนวความคิดเกสตอลท์นิยม (gestaltism) หรือ จิตวิทยาเกสตอลท์ (the gestalt psychology)
เกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน เมื่อราวๆ ค.ศ. 1912 โดย แม็กซ์ เวอร์ไทเมอร์ (Max Wertheimer) (1880–1943) เป็นผู้นำกลุ่มแนวความคิด คำว่า “gestalt” เป็นคำในภาษาเยอรมัน หมายความว่า กระสวน โครงร่าง รูปร่าง รูปแบบ (pattern) สนาม (field) การรวมหน่วยย่อย (configuration) โครงสร้างของส่วนรวม (form configuration หรือ organization) ส่วนรวมทั้งหมดหรือโครงสร้าง ทั้งหมด (the totality or configuration) ซึ่ง กันยา สุวรรณแสง (2532, หน้า 41) ได้สรุป เกี่ยวกับแนวความคิดเกสเตอลท์นิยมว่าหมายถึงจิตวิทยาที่ยึดถือเอาส่วนรวมทั้งหมดเป็นสำคัญ นักจิตวิทยากลุ่มนี้มีความเห็นว่า การศึกษาจิตวิทยานั้นต้องศึกษาพฤติกรรมทางจิตเป็นส่วนรวมจะแยกศึกษาทีละส่วนไม่ได้
แนวความคิดเกสตอลท์นิยม เห็นว่าแนวความคิดพฤติกรรมนิยมที่ศึกษาพฤติกรรมโดยพยายามแยกพฤติกรรมออกมาเป็นหน่วยย่อย เช่น เป็นสิ่งเร้า และการตอบสนองนั้นเป็นวิธีการที่ไม่ใช่เรื่องของจิตวิทยา น่าจะเป็นเรื่องของวิชาเคมี หรือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์แขนงอื่น ฉะนั้นแนวความคิดเกสตอลท์นิยม จึงไม่พยายามศึกษาพฤติกรรมแยกเป็นส่วนๆ แล้วศึกษารายละเอียดของแต่ละส่วน เหมือนแนวความคิดอื่นๆ แต่ใช้วิธีการตรงกันข้าม กล่าวคือพิจารณาพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ทุกๆ อย่างเป็นส่วนรวม (whole) มากกว่าส่วนย่อย เน้นให้ความสำคัญกับส่วนรวมทั้งหมดในลักษณะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (unique) ตัวอย่างเช่น ครั้งแรกที่เรามองวัตถุ เราจะมองทั้งหมดก่อน แล้วจึงจะแยกดูเป็นส่วนย่อยเป็นส่วนๆ ไป เช่น ดูสี ดูขนาด เช่น เรามองบ้านครั้งแรกเรามองบ้านทั้งหลังก่อน แล้วจึงดูส่วนประกอบย่อย ๆ เช่น หลังคา หน้าต่าง เสา เป็นต้น ดังนั้นการที่เรามองเห็นสิ่งต่างๆ นั้น เราจะรับรู้ลักษณะทั้งหมดเป็นส่วนรวม รายละเอียดจะถูกมองข้ามไปไม่ได้รับการเอาใจใส่ นอกจากจะพิจารณาในแง่ที่เกี่ยวพันกับส่วนรวมเท่านั้น ดังนั้นการรับรู้ของคนเราจะรับรู้เป็นส่วนรวมก่อนการพิจารณารายละเอียดส่วนย่อย
แนวความคิดเกสตอลท์นิยม อธิบายหลักการว่า ส่วนประกอบของหน่วยเมื่อรวมกันเข้าแล้ว จะไม่เท่ากับหน่วยที่รวมกันเป็นโครงสร้างแล้ว เปรียบได้กับว่า กองไม้ อิฐ ซีเมนต์ เหล็ก ฯลฯ ถ้าแยกเป็นกองๆ จะมีค่าต่ำกว่าบ้าน เพราะเป็นหน่วยรวมซึ่งมีโครงสร้างให้เห็นชัดเจน บ้านสองหลังสร้างด้วยวัสดุเหล่านี้จำนวนเท่ากัน อาจสร้างไม่เหมือนกัน ค่าของบ้านอาจจะมีราคาไม่เท่ากัน หลังหนึ่งอาจจะสวยกว่าอีกหลังหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิควิธีการใช้วัสดุมาผสมผสานกันให้เหมาะสม ทำนองเดียวกันกับลักษณะของพฤติกรรมก็เช่นกัน การแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมนั้น การที่จะแสดงออกมาในรูปใด มักเนื่องมาจากคุณสมบัติโดยส่วนรวมของบุคคลนั้นๆ เช่นการประสมประสานกันระหว่างความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก ทักษะหรือความสามารถในการกระทำ ไม่ได้เกิดเพราะสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว และถึงแม้ว่าสิ่งเร้าสิ่งเดียวกัน ปฏิกิริยาตอบสนองของบุคคลนั้น ก็อาจจะแตกต่างกันตามกาลเวลา ทั้งนี้เนื่องจากประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก ทักษะ ความสามารถ ฯลฯ เปลี่ยนไปจากเดิม นักจิตวิทยากลุ่มนี้จึงไม่แยกศึกษาส่วนต่างๆ แต่มุ่งศึกษาพฤติกรรมเป็นส่วนรวม
7. แนวความคิดมนุษยนิยม (humanism) บุคคลที่มีอิทธิพลสำคัญต่อแนวความคิดมนุษยนิยม คือ คาร์ล อาร์ โรเจอร์ (Carl R. Rogers) และอับบราฮัม เอ็ช มาสโลว์ (Abraham H. Maslow) แนวความคิดมนุษยนิยมโดยภาพรวมเป็นแนวความคิดเน้นให้ความคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่ง โยธิน ศันสนยุทธ และคนอื่น ๆ (2539, หน้า 12) ได้สรุปว่าแนวความคิดมนุษยนิยมศึกษาเกี่ยวกับ มีความเชื่อว่ามนุษย์โดยธรรมชาติมีความโน้มเอียงที่จะมีการพัฒนาไปสู่ระดับที่สูงขึ้น และถ้าไม่ถูกขัดขวางเขาจะพัฒนาไปถึงจุดสูงสุดตามศักยภาพของเขา ดังนั้นจุดเน้นของแนวความคิด มนุษยนิยม ก็คือ ใจอิสระ (freewill) ซึ่งหมายความว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตของเขา
แนวความคิดมนุษยนิยมมีภูมิหลังและความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความเชื่อพื้นฐานร่วมกันตามที่ พนมไพร ไชยยงค์ (2542, หน้า 49-50) ได้สรุปไว้ดังนี้
7.1 มนุษย์มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี
7.2 มนุษย์ ก็คือ สัตว์โลกประเภทหนึ่งมีจิตใจ มีความต้องการความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจและมีความสามารถเฉพาะตัวมีขีดจำกัด ไม่สามารถเข้าไปจัดการให้มนุษย์เป็นอะไรก็ได้ตามใจชอบ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่แตกต่างจากพฤติกรรมนิยม ซึ่งเห็นว่าสามารถกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยกันได้
7.3 มนุษย์เราทุกคนต่างก็พยายามจะรู้จัก และเข้าใจตนเอง (self actualization) และยอมรับในศักยภาพของตนเอง
7.4 ในเมื่อมนุษย์เราทุกคนต่างก็เข้าใจผู้อื่น และยอมรับตนเองอยู่แล้ว ต่างคนก็มุ่งสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้แก่ตนเอง
7.5 เนื่องจากมนุษย์เราแต่ละคนต่างพยายามปรับปรุงตนเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ฉะนั้น ควรจะให้แต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกกระทำ เลือกประสบการณ์ของตนเอง กำหนดความต้องการของตนเอง ตัดสินใจเรื่องใด ๆ ด้วยตนเอง
7.6 วิธีการค้นคว้าหาความรู้หรือข้อเท็จต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญกว่าองค์ความรู้หรือข้อเท็จ เพราะว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้องค์ความรู้หรือข้อเท็จจริงมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีการพัฒนาองค์ความรู้ที่ซับซ้อมมากขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของผู้เรียนมากที่สุดก็คือ วิธีการแสวงหาความรู้
8. แนวความคิดประสาทวิทยาศาสตร์ของพฤติกรรม (behavioral neuroscience approach) เน้นศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทเพื่อการอธิบายพฤติกรรม โดยเชื่อว่าพฤติกรรมมนุษย์ทั้งพฤติกรรมภายนอกและพฤติกรรมภายใน สามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการทำงานของระบบประสาท ลาฮีย์ (Lahey, 2001, p. 61) ได้สรุปว่าระบบประสาทที่มีอิทธิพลสำคัญต่อพฤติกรรม แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system) ระบบประสาทส่วนปลาย (peripheral nervous system) ซึ่งระบบประสาททั้ง 2 ส่วนนี้มีอิทธิพลกับพฤติกรรมดังนี้
8.1 ระบบประสาทส่วนกลาง ประกอบด้วย สมองและไขสันหลัง ส่วนของสมองมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุมพฤติกรรมภายนอก เช่น การเคลื่อนไหว พูด การหายใจ การเต้นของหัวใจ และพฤติกรรมภายใน เช่น ความคิด การเรียนรู้ ความจำ ส่วนไขสันหลังจะทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยาสะท้อน (reflex behavior) และการนำข้อมูลข่าวสารจากเส้นประสาทไปยังสมอง และส่งข้อมูลข่าวสารจากสมองไปยังอวัยวะตอบสนอง
8.2 ระบบประสาทส่วนปลาย ประกอบด้วย ระบบประสาทรับความรู้สึก (somatic nervous system) และระบบประสาทอัตโนมัติ (autonomic nervous system) ระบบประสาท รับความรู้สึก ประกอบด้วยเส้นประสาทรับความรู้สึก (sensory nerve) ซึ่งจะทำหน้าที่รับสัญญาณประสาทจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไปยังระบบประสาทส่วนกลาง และเส้นประสาทมอร์เตอร์ (motor nerve) ซึ่งจะทำหน้าที่ส่งสัญญาณประสาทจากระบบประสาทส่วนกลางไปยังอวัยวะ ตอบสนองให้เกิดการเคลื่อนไหว ส่วนระบบประสาทอัตโนมัติ จะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของ พฤติกรรมที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจและการทำงานของอวัยวะภายใน
นอกจากนี้แล้วสารเคมีในสมองก็มีผลต่อพฤติกรรมด้วย โดยเฉพาะสารสื่อประสาท (neurotransmitters) สารสื่อประสาทคือสารเคมีที่หลั่งจากเซลล์ประสาทตัวหนึ่งแล้วจะมีผลไปกระตุ้นให้เซลล์ประสาทอีกตัวหนึ่งสร้างสัญญาณประสาท ดังนั้นสารสื่อประสาทจึงทำหน้าที่ คล้าย ๆ กับเป็นสื่อที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดของสัญญาณประสาท จากเซลล์ประสาทตัวหนึ่งไปยังเซลล์ประสาทตัวอื่น ๆ ซึ่งสารสื่อประสาทเหล่านี้จะมีอิทธิพลกับพฤติกรรมของมนุษย์ด้วย เช่น การมีระดับของซิโรโทนิน (serotonin) ต่ำจะมีผลทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า เอ็นโดร์ฟิน (endrophine) จะมีผลต่อการลดความเจ็บปวดและรู้สึกสบาย มีความสุข ฯลฯ
9. แนวความคิดจิตวิทยาวิวัฒนาการ (evolutional psychology approach) มีรากฐานแนวความคิดมาจากทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน ซึ่งได้กล่าวเกี่ยวกับหลักการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตว่าสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นมีจำนวนมากมาย แต่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจะมีชีวิตอยู่รอดได้นั้น จะต้องมีการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม หรือจะต้องมีความสามารถ มีความแข็งแรง ที่จะต่อสู้เอาชนะสิ่งอันตรายได้ หากสิ่งมีชีวิตใดไม่สามารถปรับตัว หรือไม่มีความแข็งแรงที่จะเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อม ก็จะทำให้ตายไป ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ ในขณะเดียวกันปรากฏการณ์เช่นนี้ก็จะเป็นกระบวนการคัดเลือกทางธรรมชาติ กล่าวคือสิ่งมีชีวิตที่ไม่แข็งแรงและไม่สามารถปรับตัวเอาชนะสิ่งแวดล้อมได้ก็จะไม่มีโอกาสถ่ายทอดยีนส์ ทำให้คุณลักษณะที่อ่อนแอ หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัวได้อาจสูญพันธ์ไป
เบิอร์นสไตล์ และเนซ (Bernstein & Nash, 1999, p. 11) กล่าวว่าแนวความคิดจิตวิทยาวิวัฒนาการมีความเชื่อสอดคล้องกับหลักการวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน กล่าวคือเชื่อว่าพฤติกรรมมนุษย์เป็นผลมาจากกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการปรับตัวให้สามารถมีชีวิต อยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป หากได้พิจารณาแบบแผนของพฤติกรรมมนุษย์ตั้งแต่แรกเริ่มมีมนุษย์สายพันธ์แรกคือ ออส์ตราโลพิเธคคัส (astralopithecus) ซึ่งมีอายุประมาณ 4 ล้านปี ที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงมนุษย์ปัจจุบัน จะมีแบบแผนพฤติกรรมที่แตกต่างกันมากมาย เช่น แบบแผนของพฤติกรรมในการหาเลี้ยงชีพ มนุษย์ในยุคดึกดำบรรพ์อาจจะหาเลี้ยงชีพโดยการออกไปล่าสัตว์ ต่อมามนุษย์มีการล่าสัตว์โดยการมีการคิดแปลงวัสดุธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือในการล่าสัตว์ เช่น ใช้หินกระเทาะให้มีเหลี่ยมคมสำหรับล่าสัตว์ ต่อมามีการรู้จักใช้ไฟสำหรับการปรุงอาหาร มีการผลิตวัสดุที่มีความคงทนมากขึ้นในการทำอาวุธ เช่น มีการใช้โลหะทำอาวุธ ต่อมามีการเรียนรู้เรื่องการเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ ทำให้ไม่ต้องออกไปล่าสัตว์หาอาหารทุกวัน จึงทำให้เกิดการ ตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย เมื่อมีการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และมีแรงผลิตจนกระทั่งเกินความต้องการ ก็เริ่มมีการจำหน่ายจ่ายแจกกลายเป็นสังคมเกษตรกรรม แล้วค่อย ๆ มีการพัฒนาเป็นสังคมพาณิชยกรรม และสังคมอุตสาหกรรมในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นระยะเป็นล้าน ๆ ปี นี้ทำให้เกิดวิวัฒนาการของแบบแผนพฤติกรรมมนุษย์มากมายตามลำดับที่ได้กล่าวมานี้
นอกจากนี้แล้วหากพิจารณาตามหลักวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน ก็จะสามารถอธิบายได้ว่า กระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติก็มีอิทธิพลกับวิวัฒนาการของพฤติกรรม กล่าวคือ พฤติกรรมหรือการกระทำใดที่จะทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมก็ถูกคัดสรรโดยกระบวนการธรรมชาติให้คงพฤติกรรมนั้นสืบทอดกันไป ซึ่งอาจจะสืบทอดโดยกระบวนการของการเรียนรู้ถ่ายทอดจากสมาชิกสังคมรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง หรืออาจจะสืบทอดโดยกระบวนการของการถ่ายทอดทางยีนส์ กล่าวคือมนุษย์ที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสถาพแวดล้อมก็อาจไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดหรือไม่ถูกเลือกให้เป็นคู่ครอง ทำให้ขาดโอกาสในการถ่ายทอดยีนส์ไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ดังนั้นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม จึงค่อย ๆ สูญหายไป
แม้ว่าทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน เรื่องการเลือกสรรโดยธรรมชาติ จะเริ่มพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ในตอนกลางของศตวรรษที่ 19 แต่ก็ยังมีอิทธิผลต่อแนวความคิดจิตวิทยาวิวัฒนาการในปัจจุบัน ซึ่งนักจิตวิทยาวิวัฒนาการเชื่อว่าจิตวิทยาวิวัฒนาการจะเป็นจิตวิทยาสาขาใหม่ ซึ่งต่อไป ในอนาคตอาจมีการศึกษาที่ลึกซึ้ง และก้าวหน้ามากกว่านี้ ก็จะช่วยสามารถอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้กว้างขวางมากขึ้น
9. แนวความคิดสังคมวัฒนธรรม (soeiocultural approach) สังคมมนุษย์เป็นระบบสังคม วัฒนธรรม (soeiocultural system) ซึ่งหมายความว่าการรวมกันเป็นกลุ่มสังคมของมนุษย์จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของวัฒนธรรม เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมจะมีการกำหนดวัฒนธรรมเพื่อช่วยในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ซึ่งวัฒนธรรมที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมานั้นอาจเป็นวัตถุสิ่งของ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ศิลปหัตถกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ และสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ความเชื่อ ค่านิยม ศีลธรรม จริยธรรม กฎหมาย ฯลฯ
เซนทร็อค (Santrock, 2003, p. 25) กล่าวว่าแนวความคิดสังคมวัฒนธรรม เน้นอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยปัจจัยทางด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยมีความเชื่อว่าวัฒนธรรมเป็นพฤติกรรมหรือผลผลิตจากพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ การขัดเกลา การจัดระบบระเบียบให้ดีงามขึ้นจากพฤติกรรมเดิมที่เป็นธรรมชาติ เช่น พืชและสัตว์เป็นธรรมชาติ แต่เมื่อเอาพืชและสัตว์มาปรุงเป็นอาหารด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมการปรุงอาหาร ดังนั้นวัฒนธรรมที่สังคมสร้างขึ้นมานั้นจะมาจากการปรับตัวของมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์ที่เข้าหาธรรมชาติ หรือการที่มนุษย์ปรับธรรมชาติให้เข้ากับวิถีชีวิตของตนเพื่อความสะดวกสบาย และเป็นการตอบสนองความต้องการทางกาย ความต้องการทางจิตใจ และความต้องการทางสังคม ซึ่งวัฒนธรรมที่มนุษย์ สร้างขึ้นมาก็จะกลายเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคม จึงทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสิ่งกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน พฤติกรรมต่าง ๆ ที่มนุษย์กระทำในแต่ละช่วงวัยเริ่มตั้งแต่ การสร้างครอบครัว การเกิดของสมาชิกในครอบครัว การอบรมเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว และการตาย ล้วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทั้งสิ้น และพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งกาย การสื่อสาร การทำกิจวัตรประจำวัน การเล่นกีฬา การดูโทรทัศน์ และการ พักผ่อนหย่อนใจ ก็เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทั้งสิ้น ดังนั้นวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่กำหนดแบบแผนของพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามนุษย์ในแต่ละสังคมที่ยึดถือวัฒนธรรมต่างกันจะมีแบบแผนของพฤติกรรมต่างกัน เช่น ในสังคมไทยยกมือไหว้แสดงการทักทาย แต่สังคมตะวันตกใช้การ จับมือแสดงการทักทาย
แนวความคิดสังคมวัฒนธรรมนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ในกลุ่มเชื้อชาติและสังคมที่แตกต่างกัน หากได้ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมของกันและกัน ดังนั้นการศึกษาพฤติกรรมข้ามวัฒนธรรมนอกจากจะทำให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ต่างสังคมและเชื้อชาติกันแล้ว ยังเป็นประโยชน์ทำให้เกิดการปรับตัวต่อกัน เมื่อบุคคลต้องอยู่ในสังคมที่มีความหลายหลายวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ป้องกันปัญหาความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรม ดังนั้นแนวความคิดสังคมวัฒนธรรมจึงช่วยให้เกิดการเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
บทบาทของจิตวิทยากับครู
สาระความรู้ทางจิตวิทยานั้นจะเป็นความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมและกระบวนการทางปัญญา ซึ่งในการจัดการเรียนรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ครูจะต้องเข้าใจพฤติกรรมของนักเรียนในแง่มุมต่าง ๆ จึงทำให้ความรู้ทางจิตวิทยามีความจำเป็นต่อการจัดการเรียนรู้ ซึ่งความรู้ที่จำเป็นต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้นั้นสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. ความรู้พื้นฐานจิตวิทยา คือเนื้อหาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจิตวิทยา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเข้าใจความรู้ทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ลึกซึ้งต่อไป ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับการเชื่อมโยงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของศาสตร์ทางจิตวิทยากับการประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้และวิธีการสืบค้นความรู้ทางจิตวิทยา
2. ธรรมชาติและพัฒนาการของผู้เรียน คือเนื้อหาที่อธิบายเกี่ยวกับลักษณะและแบบแผนของพัฒนาการของผู้เรียนวัยต่าง ๆ ประกอบด้วย เนื้อหาเกี่ยวกับหลักพัฒนาการมนุษย์และการเจริญเติบโต พัฒนาการทางกาย อารมณ์ สังคม และทฤษฎีพัฒนาการ
3. การเรียนรู้ คือเนื้อหาที่อธิบายเกี่ยวกับกระบวนและขั้นตอนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้ การจัดสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และการประเมินผลการเรียนรู้ ซึ่งสาระในส่วนที่ เกี่ยวกับการเรียนรู้นี้จะเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ โดยเฉพาะสาระที่เกี่ยวกับทฤษฎีการเรียนรู้ เนื่องจากทฤษฎีการเรียนรู้จะเป็นสาระที่อธิบายเกี่ยวกับกระบวนการของการ เรียนรู้ ซึ่งเป็นประโยชน์ที่จะนำไปใช้การจัดการเรียนรู้ การออกแบบสื่อการเรียนการสอน และการบริหารชั้นเรียนให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยสรุปแล้วสาระของความรู้ทางจิตวิทยาที่จะประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ มี 3 เรื่องคือ ความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยา ธรรมชาติและพัฒนาการของผู้เรียน และการเรียนรู้
ขอบข่ายความรู้ทางจิตวิทยาที่นำไปประยุกต์ใช้สำหรับครู
ไพทูรย์ สินลารัตน์ ได้กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือจิตวิทยาการศึกษาที่เขียนโดย สุรางค์ โคว้ตะกูล (2544 , คำนำ) ว่าหัวใจของการศึกษาอยู่ที่การเรียนการสอน และหัวใจของการสอนอยู่ที่จิตวิทยาของครูเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับ กุญชรี ค้าขาย (2540 , หน้า 4) ที่กล่าวว่า คุณลักษณะประการหนึ่งของครูที่มีประสิทธิภาพคือ การมีความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้จิตวิทยาเพื่อจัดการเรียนการสอน ดังนั้นความรู้ทางด้านจิตวิทยาจึงเป็นประโยชน์มากสำหรับการจัดการเรียนรู้ ดังนี้
1.ช่วยให้ครูรู้วิธีการแสวงหาความรู้และแก้ปัญหาพฤติกรรมของนักเรียนในชั้นเรียนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับครูในการศึกษาพฤติกรรมของผู้เรียน และการทำกรณีศึกษาเพื่อการเข้าใจผู้เรียนเป็นรายบุคคล และยังประโยชน์สำหรับครูในการวิจัยในชั้นเรียน เพื่อสร้างองค์ความรู้และแก้ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ กล่าวโดยสรุปคือช่วยให้ครูรู้กระบวนการ วิทยาศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้
2. ช่วยให้ครูเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียนเกี่ยวกับพัฒนาการด้านร่างกาย ปัญญา อารมณ์และสังคมของผู้เรียนในแต่ละช่วงวัย ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาหลักสูตร การเลือกวิธีการ จัดการเรียนรู้ และเลือกหรือสร้างสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีช่วงวัยต่าง ๆ กัน
3. ช่วยให้ครูเข้าใจเกี่ยวกับหลักการเรียนรู้ ซึ่งความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้จะเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้ หากครูเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้จะเป็นประโยชน์สำหรับครูที่จะนำเอาไปใช้ในชั้นเรียนได้หลายประการดังนี้
3.1 ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้จะเป็นประโยชน์สำหรับครูในการพัฒนาเทคนิควิธีการสอนที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น การสอนโดยการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนก็พัฒนามาจากทฤษฎี การเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (operant conditioning learning theory) การสอนโดยการสาธิต ก็พัฒนามาจากทฤษฎีการเรียนรู้โดยการสังเกต (observation learning theory) ฯลฯ
3.2 ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้จะเป็นประโยชน์สำหรับครูในการสร้างสื่อการเรียนที่ เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น จากทฤษฎีการประมวลสารสนเทศ (information processing) กล่าวว่าสารสนเทศที่จะเข้าสู่ขั้นตอนของการประมวลผล ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องเป็นข้อมูลที่ผู้เรียนมีความสนใจ ดังนั้นจากแนวคิดดังกล่าว หากครูต้องการสอนโดยใช้สื่อประกอบการสอน สื่อที่ครูสร้างจะต้องมีลักษณะที่ดึงดูดความสนใจของ ผู้เรียน เช่นต้องมีสีสันที่ดึงดูดความสนใจ เพื่อให้สารสนเทศในสื่อที่ครูนำเสนอเป็นที่สนใจของนักเรียน
3.3 ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ จะเป็นประโยชน์สำหรับครูในการนำเอาทฤษฎี การเรียนรู้ไปใช้เพื่อการปรับพฤติกรรมในชั้นเรียน เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์นั้นเกิดจาก การเรียนรู้ไม่ว่าพฤติกรรมที่พึงประสงค์หรือไม่พึงประสงค์ก็ตาม ดังนั้นครูสามารถใช้หลักการเรียนรู้เพื่อสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์และลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
3.4 ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ จะเป็นประโยชน์สำหรับในการเข้าใจปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผล ต่อการเรียนรู้ ทำให้ครูสามารถนำเอาไปใช้ในการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ครูสามารถแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์สำหรับครูในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาของการเรียนรู้
4. ช่วยให้ครูเข้าใจเกี่ยวกับแรงจูงใจ แรงจูงใจเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรม หากครูเข้าใจหลักของการจูงใจและสามารถนำไปใช้เพื่อการจูงใจให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมการเรียนที่เหมาะสม จะทำให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมการเรียนที่เหมาะสมและมีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากหากผู้เรียนได้รับการกระตุ้นจนเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ จะทำให้ผู้เรียนมีลักษณะกระตือรือร้น มีความมุมานะพยายามให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ซึ่งพฤติกรรม ดังกล่าวนี้จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากความสำคัญของความรู้ทางจิตวิทยากับการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวมาแล้ว จึงทำให้ความรู้ทางจิตวิทยามีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้ จึงทำให้ครูและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ เช่น ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ฯลฯ มีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ทางจิตวิทยา เพื่อจะได้นำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ตามบทบาทของตนได้อย่างเหมาะสม

บทสรุป
ประวัติของการศึกษาศาสตร์จิตวิทยา แบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ ยุคที่ศึกษาเกี่ยวกับวิญญาณ ยุคที่ศึกษาเกี่ยวกับจิต และยุคที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม และความหมายของวิชาจิตวิทยา คือการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและกระบวนการทางปัญญา ซึ่งกระบวนการทางปัญญา หมายถึง กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคลก่อนที่จะเกิดการตอบสนอง และคำว่าพฤติกรรม หมายถึง การกระทำที่บุคคลแสดงออกแล้วสามารถสังเกตได้และวัดได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พฤติกรรมภายนอก และพฤติกรรมภายใน
แนวความคิดทางจิตวิทยาในการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่กล่าวถึงในบทนี้มี 9 กลุ่มแนวความคิด คือ แนวความคิดโครงสร้างนิยมเน้นศึกษาเกี่ยวกับองค์ประกอบของจิต ซึ่งองค์ประกอบของจิตประกอบด้วย การรับสัมผัส ความรู้สึกและจินตภาพ แนวความคิดหน้าที่นิยม ศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่ของจิตซึ่งมีหน้าที่ในการปรับตัว แนวความคิดพฤติกรรมนิยม มุ่งเน้นศึกษาพฤติกรรมด้วยระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ แนวความคิดปัญญานิยม เน้นศึกษากระบวนการทางปัญญาเพื่อนำไปทำความเข้าใจพฤติกรรม แนวความคิดจิตวิเคราะห์ ศึกษาเกี่ยวกับระดับของการรู้สึกตัวและองค์ประกอบของจิตที่ประกอบด้วย อิด อีโก้ และซุปเปอร์อีโก้ แนวความคิดเกสตอลท์นิยม ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์เป็นองค์รวม แนวความคิดมนุษยนิยม ศึกษาธรรมชาติมนุษย์ที่ต้องการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แนวความคิดประสาทวิทยาศาสตร์ของพฤติกรรม ศึกษาการทำงานของระบบประสาทเพื่อการอธิบายของพฤติกรรม แนวความคิดจิตวิทยาวิวัฒนาการ ศึกษาวิวัฒนาการของพฤติกรรมและแนวความคิดสังคมวัฒนธรรม จะศึกษาปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรมเพื่อการอธิบายพฤติกรรม นอกจากนี้ยังสรุปได้ว่า ความรู้ทางจิตวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้ มีดังนี้ คือ ความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยา ธรรมชาติและพัฒนาการของผู้เรียน และการเรียนรู้ ซึ่งความรู้เหล่านี้จะช่วยให้ครูรู้วิธีแสวงหาความรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน เข้าใจหลักการเรียนรู้ และเข้าใจหลักการจูงใจ เพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำถามท้ายบท
1. จงอธิบายความหมายของ “จิตวิทยา”
2. จงอธิบายความหมายของพฤติกรรม และการแบ่งประเภทของพฤติกรรม
3. จงสรุปสาระสำคัญของแนวความคิดโครงสร้างนิยม หน้าที่นิยม พฤติกรรมนิยม ปัญญานิยม จิตวิเคราะห์ เกสตอลท์นิยม ประสาทวิทยาศาสตร์ของพฤติกรรม จิตวิทยาวิวัฒนาการ และสังคมวัฒนธรรม
4. จงอธิบายถึงประโยชน์ของวิชาจิตวิทยากับการจัดการเรียนรู้
ที่ปรึกษา
รศ.ศิริกุล ตัณฑุลารักษ์
ผศ.เยาวภา ธนัญชัยบุตร
ดร.ศุภลักษณ์ สัตย์เพริศพราย
ดร.รังรอง งามศิริ
ฝ่ายศิลป์
นายวุฒิจักษณ์ สิงห์บุตร
บรรณาธิการ
นายปรเมศร์ กลิ่นหอม
กองบรรณาธิการ
นายกฤษณะ เหมือนเขียว
ประสานงาน
น.ส.สุภาภรณ์ แซ่ลี้

วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

โครงร่าง แนวการสอนรายวิชา การประยุกต์จิตวิทยาสำหรับครู


คำอธิบายรายวิชา
ความสำคัญของจิตวิทยากับครู การแสวงหาความรู้และการวิจัยทางจิตวิทยา พัฒนาการมนุษย์ ทฤษฎีพัฒนาการและการประยุกต์ใช้ สุขภาพจิตและปัญหาพฤติกรรมนักเรียน วิธีการศึกษาพฤติกรรมนักเรียน บทบาทหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษา การแนะแนวและให้คำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียน การทำกรณีศึกษา การเรียนรู้ของมนุษย์ สมองกับการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้ ความแตกต่างระหว่างบุคคลกับการเรียนรู้ เด็กพิเศษและการส่งเสริมการเรียนรู้ในชั้นเรียน
จุดมุ่งหมายของรายวิชา
1. มีความรู้และเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพัฒนาการมนุษย์กับการเรียนรู้ และสามารถจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมพัฒนาการมนุษย์ทุกช่วงวัย
2. มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มต่างๆ
3.สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเรียนรู้ เช่น ธรรมชาติของผู้เรียน ความแตกต่างระหว่างบุคคล แรงจูงใจ ฯลฯ และสอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้
4. สามารถวิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหาการเรียนรู้ในชั้นเรียนตามหลักทฤษฎีการเรียนรู้และทฤษฎีพัฒนาการ
5. สามารถวิเคราะห์ปัญหาพฤติกรรมของนักเรียนและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของนักเรียน
6. สามารถใช้เครื่องมือทางจิตวิทยาในการศึกษาเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของนักเรียนเป็นรายบุคคล


การพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษา
1. คุณธรรมและจริยธรรม
1.1 คุณธรรมและจริยธรรมที่ต้องพัฒนา
พัฒนาผู้เรียนให้มีความรับผิดชอบ มีวินัย มีจรรยาบรรณวิชาชีพครู เคารพในสิทธิของข้อมูลส่วนบุคคล การไม่
ละเมิดสิทธิทางปัญญา โดยมีคุณธรรม จริยธรรมตามคุณสมบัติหลักสูตร ดังนี้
- ตะหนักในคุณค่าและคุณธรรม จริยธรรม เสียสละและซื่อสัตย์สุจริต
- มีวินัย ตรงต่อเวลาและความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
- มีภาวะความเป็นผู้นำและผู้ตาม สามารถทำงานเป็นทีม และสามารถแก้ไขข้อขัดแย้งและลำดับความสำคัญ
- เคารพสิทธิและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รวมทั้งเคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
- มีจรรยาบรรณทางวิชาการและวิชาชีพ
2. ความรู้
2.1 ความรู้ที่ต้องได้รับ
มีความรู้ในหลักการจิตวิทยาสำหรับครู วิธีการศึกษาทางจิตวิทยา ทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ ทฤษฎี และแนวคิด
จิตวิทยาการเรียนรู้ สุขภาพจิตและปัญหาพฤติกรรมนักเรียน การศึกษารายกรณี บทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษาและการให้คำปรึกษานักเรียน การปรับพฤติกรรม และการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ
3. ทักษะทางปัญญา
3.1 ทักษะทางปัญญาที่ต้องพัฒนา
พัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดเป็นระบบ การแก้ปัญหาตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
4. ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
4.1 ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ
- พัฒนาทักษะในการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้เรียนด้วยกัน
- พัฒนาความเป็นผู้นำและผู้ตามในการทำงานเป็นทีม
- พัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเองและมีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายให้ครบถ้วนตามกำหนดเวลา
5. ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
5.1 ทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ต้องการพัฒนา
- พัฒนาทักษะในการสื่อสารทั้งการพูด การฟัง การเขียนโดยการทำรายงานและการนำเสนอในชั้นเรียน
- พัฒนาทักษะในการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต
- พัฒนาทักษะในการนำเสนอรายงานโดยใช้รูปแบบและเทคโนโลยีที่เหมาะสม
ข้อตกลงเบื้องต้นในการเรียน
1.นักศึกษาพึงระลึกว่า เอกสารประกอบการศึกษาและแผนการสอนรายวิชา เป็นแนวทางในการเรียนของนักศึกษา ให้รักษาอย่างดีและนำมาประกอบการศึกษาในการเข้าชั้นเรียนทุกครั้ง
2.ก่อนการเรียนการสอนทุกครั้งให้นักศึกษา อ่านเอกสารประกอบการสอนมาให้เข้าใจ และนำมาใช้ในห้องเรียนทุกครั้งที่เข้าเรียน หากสงสัยในเนื้อหาส่วนใด สามารถนำมาซักถามและอภิปรายได้
3.ในการเรียนในชั้นเรียนทุกครั้งนักศึกษาพึงเป็นผู้เรียนที่ดี โดยการกระทำตัวเป็น Active Learner นอกจากนี้ยังต้องเคารพสิทธิ ให้เกียรติผู้เรียนและผู้สอน ด้วยการมีมรรยาททางสังคมที่ดี
4. การส่งงานที่ได้รับมอบหมาย ให้ส่งตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในแผนการสอนรายสัปดาห์ หากส่งช้าเกินกำหนดคะแนนลดลงตามลำดับ หากส่งช้ากว่ากำหนดเกิน 2 สัปดาห์ คะแนนจะลดลง 4 คะแนน
ถ้าชิ้นงานนั้นลอกผลงานคนอื่นอย่างไร้จริยธรรม คะแนนที่ได้อยู่ในเกณฑ์ต่ำสุดคือ ร้อยละ 1 ของคะแนนเต็มของชิ้นงานนั้น เช่น รายงานกลุ่ม คะแนนเต็ม 10 จะได้เพียง 1 คะแนน
4.นักศึกษาสามารถติดต่ออาจารย์ผู้สอนทางโทรศัพท์ และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ได้ในเวลาราชการ.
5.นักศึกษาสามารถขอรับคำปรึกษาทางวิชาการจากอาจารย์ที่ปรึกษา และติดตามข่าวสารรายวิชานี้ได้ที่ Web-blogรายวิชา http://patkru.blogspot.com
แผนการสอนและการประเมินผล
1. แผนการสอน
สัปดาห์
ที่ 1
27-28
มี.ค.
53 ปฐมนิเทศ
บทที่ 1 ความสำคัญของจิตวิทยากับครู
1.1 มโนทัศน์พื้นฐานทางจิตวิทยา (ความหมายของพฤติกรรม รูปแบบการศึกษาพฤติกรรม แนวความคิดจิตวิทยา)
1.2 ครูกับการเป็นครูที่มีประสิทธิภาพ
1.3 บทบาทของจิตวิทยากับครู
1.4 ขอบข่ายความรู้ทางจิตวิทยาที่ประยุกต์ใช้กับครู 3


2
3-4
เม.ย.
53 บทที่ 2 ความรู้และการแสวงหาความรู้ทางจิตวิทยา
2.1 ความหมาย
2.2 การจัดการความรู้
2.3 การสืบค้นความรู้ทางจิตวิทยา
2.4 การแสวงหาความรู้ของมนุษย์
2.5 การวิจัยทางจิตวิทยา

3
10-11
เม.ย.
53 บทที่ 3 พัฒนาการมนุษย์
3.1 ความหมายของพัฒนาการ
3.2 พัฒนาการมนุษย์แต่ละช่วงวัย (ร่างกาย ปัญญา บุคลิกภาพและสังคม)

3.3 พัฒนาการทางบุคลิกภาพทางบุคลิกภาพกับการเรียนรู้
- ทฤษฎีพัฒนาการทางเพศ ของ Freud
- ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม ของ Erikson
3.4 พัฒนาการทางปัญญา และจริยธรรมกับการเรียนรู้
- ทฤษฎีพัฒนาการทางปัญญาของ Piaget
- ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรม ของ Kohlberg

บทที่ 3 พัฒนาการมนุษย์ (ต่อ)
3.5 การส่งเสริมพัฒนาการ
บทที่ 4 การเรียนรู้
4.1 การเรียนรู้ของมนุษย์
- ความหมายของการเรียนรู้
- ปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้
- ความแตกต่างของบุคคลกับการเรียนรู้
4.2 สมองกับการเรียนรู้
- กายวิภาคและการทำงานของสมอง
- ทฤษฏีพหุปัญญา และการพัฒนาศักยภาพของสมอง
บทที่ 4 การเรียนรู้
4.3 ทฤษฎีการเรียนรู้
- ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของ Thorndike
- Classical conditioning, Operant conditioning
- Social cognitive learning theory
- เรียนรู้โดยการหยั่งเห็นของ Kohler
- Information processing theory
4.4 กระบวนการสร้างปัญญาแนวคิดจิตวิทยาตะวันออก
- กระบวนการคิดแบบโยนิโสมนสิการ
4.5 การจัดกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน
บทที่ 4
- ทดสอบความเข้าใจการเปรียบเทียบ เลือกใช้ทฤษฏีการเรียนรู้ - ผลงาน
การวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ
6
8-9
พ.ค.
53 สอบกลางภาค : ความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาวิชา เรื่อง ความสำคัญของจิตวิทยากับครู วิธีการศึกษาทางจิตวิทยา จิตวิทยาพัฒนาการ และการเรียนรู้ 3 ** 20 คะแนน
7
15-16
พ.ค.
บทที่ 5 สุขภาพจิตและปัญหาพฤติกรรมนักเรียน
5.1 ความหมายของสุขภาพจิต
5.2 แนวคิดจิตวิทยาอปกติ
5.3 ปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมนักเรียน
5.4 สาเหตุ และแนวทางป้องกันแก้ไข
8
22-23
พ.ค.
บทที่ 6 การศึกษารายกรณีและวิธีการศึกษาพฤติกรรม
6.1 ความหมายของกรณีศึกษา
6.2 ขั้นตอนการทำกรณีศึกษา
6.3 ข้อมูลและแหล่งข้อมูล
6.4 วิธีการศึกษาพฤติกรรม
9
29-30
พ.ค.
บทที่ 7 บทบาทอาจารย์ที่ปรึกษา
7.1 ความสำคัญและคุณลักษณะของอาจารย์ที่ปรึกษา
7.2 บทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา
7.3 บริการแนะแนวในโรงเรียน
7.4 ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
10
5-6
มิ.ย.
บทที่ 8 การให้คำปรึกษานักเรียน
8.1 ความหมายของการให้คำปรึกษา
8.2 ลักษณะของผู้ให้คำปรึกษา
8.3 จรรยาบรรณของการให้คำปรึกษา
8.4 ขั้นตอนการให้คำปรึกษา
8.5 ทักษะการให้คำปรึกษา
8.6 ทฤษฏีการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
11
12-13
มิ.ย.
บทที่ 9 การศึกษาเด็กพิเศษ และวิธีการช่วยเหลือโดยประยุกต์ใช้การปรับพฤติกรรม
9.1 เด็กพิเศษ
- ความหมายของเด็กพิเศษ
- ประเภทของเด็กพิเศษ
- การจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ
9.1 วิธีการช่วยเหลือโดยการประยุกต์ใช้การปรับพฤติกรรม
- ทฤษฏีการปรับพฤติกรรม
- เทคนิคการปรับพฤติกรรม
- ขั้นตอนการปรับพฤติกรรม
- การประยุกต์ใช้การปรับพฤติกรรมกับเด็กพิเศษ
**** กำหนดวันสุดท้ายของการส่ง รายงานการศึกษารายกรณี (Case –study)
สอบปลายภาค : ความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาและการประยุกต์ใช้ เรื่อง สุขภาพจิตและปัญหาพฤติกรรมนักเรียน การศึกษารายกรณี บทบาทอาจารย์ที่ปรึกษา การให้คำปรึกษานักเรียน เด็กพิเศษ และวิธีการช่วยเหลือโดยประยุกต์ใช้การปรับพฤติกรรม

20 คะแนน

วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553




เว็บบล็อกนี้ สร้างขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อ


1.ประกอบการเรียนการสอนรายวิชา 1055501 การประยุกต์จิตวิทยาสำหรับครู


2. เอกสารประกอบการเรียนผ่านสื่อเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต


3. แหล่งสืบค้น และค้นคว้าข้อมูลจากเว็บอื่นที่เกี่ยวกับเนื้อหาวิชาการประยุกต์จิตวิทยาสำหรับครู


4. ศูนย์ให้คำปรึกษาระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับผู้เรียน ผ่าน e-mail address ของบล็อก




ข้อปฏิบัติในการใช้เว็บบล็อกสำหรับนักศึกษาที่เรียนรายวิชานี้


1. อ่านข่าวประชาสัมพันธ์และวิธีปฏิบัติทุกครั้งที่เข้าบล็อก


2. ห้ามโพสท์รูปหรือเขียนข้อความที่ขัดกับหลักกฏหมายไทย กฏหมายสากล และจรรยาบรรณอันดีงาม


3. สามารถแสดงความคิดเห็น โต้แย้งหรือเสนอแนะทางวิชาการได้โดยใช้ข้อความที่มีหลักเหตุผล และหลักวิชาการที่เรียน


4. การให้คำปรึกษาที่ให้เน้นไปที่คำปรึกษาวิชาการเท่านั้น ไม่ใช่ให้คำปรึกษาส่วนตัว


5. ข้อปฏิบัติสามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ตามข้อตกลงระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน


6. นักศึกษาที่เรียนวิชานี้กับ อ.ปรเมศร์ กลิ่นหอม ให้นำเอกสารประกอบการศึกษารายวิชาการประยุกต์จิตวิทยาสำหรับครู และแนวการสอนรายวิชาเข้าเรียนทุกครั้ง


7. นักศึกษาพึงเป็นผู้ใฝ่ศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้ที่ดีตามแนวทาง "การเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ หรือ Active Learning"